ผลงาน ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช และคณะ

คว้ารางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2554  

สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสภาวิจัยแห่งชาติ



     

ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ประกาศเชิญชวน
ให้นักประดิษฐ์คิดค้นเสนอผลงานซึ่งเป็นผลิตผล ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี กระบวนการ วิธีการ มาตรการหรือระบบ ตลอดจนวิทยาการต่างๆ ที่ดีเด่นพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคมศาสตร์ เพื่อขอรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงาน ประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2554 นั้น ซึ่งคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 7 /2553 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ได้พิจารณาและมีมติอนุมัติให้รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2554 รวม 39 รางวัลในสาขาต่างๆ จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดกว่า 200 ผลงาน

โดยในปีนี้  ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นเรื่อง “ระบบอบแห้งเชิงพาณิชย์โดยใช้ไมโครเวฟกำลังต่ำที่ป้อนคลื่นสองตำแหน่งร่วมกับระบบสุญญากาศ”
(Commercialized Drier Processing Using a Combined Unsymmetrical Double-Feed Low Power Microwave and Vacuum System)  จากหน่วยวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จากไมโครเวฟในงานวิศวกรรม  (Research Center of Microwave Utilization in Engineering(R.C.M.E.)) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล โดย ศ. ดร. ผดุงศักดิ์     รัตนเดโช และนักวิจัยร่วมซึ่งเป็นนักศึกษาภายในศูนย์ R.C.M.E คือ นายกัสตูรี เจ๊ะนิ  นายมุสตาฟา ยะภา  นายวิโรจน์ จินดารัตน์ และนายคมกฤษณ์ ชัยโย ก็ได้รับรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ระดับดี พร้อมเงินรางวัลทั้งสิ้น 150, 000 บาทและใบประกาศเกียรติยศ ซึ่งผลงานวิจัยโครงการนี้เป็นผลงาน ของ ศ. ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ลำดับที่ 10  ที่ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติมาทั้งหมดในรอบ 9 ปี

โดยในวันที่ 2 กุมภาพันธ์  2554 ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน "วันนักประดิษฐ์" และได้ทำพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2554   ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี โดยเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงาน



สำหรับรายละเอียดที่มาของผลงานวิจัยนี้มีดังนี้

(1) เชิงเทคนิค:  เพื่อพัฒนาระบบอบแห้งอเนกประสงค์เชิงพาณิชย์โดยใช้ไมโครเวฟร่วมระบบสุญญากาศที่มีคุณลักษณะเฉพาะ ในการอบแห้งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง อาทิ  ผลิตภัณฑ์ยา (Pharmaceutical) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สมุนไพร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการนี้จะต้องคงสภาพทางกายภาพ และคุณค่าทางโภชนาการ กลิ่น รสชาด ใกล้เคียงผลิตภัณฑ์เดิมก่อนนำมาผ่านกระบวนการให้มากที่สุด โดยระบบที่พัฒนาขึ้นนี้จะต้องมีคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความปลอดภัยในการใช้งานสูงตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล เน้นการใช้วัสดุที่มีอยู่ภายในประเทศและใช้งบประมาณในการสร้างต่ำ เป็นระบบที่ใช้ทดแทนเทคโนโลยีนำเข้าได้เป็นอย่างดี

(2) เชิงนโยบาย:   เพื่อให้ได้มาซึ่งงานวิจัยเชิงสหวิทยาการ (Multi-disciplinary) และบูรณาการ กล่าวคือ ได้ผลลัพธ์ในหลายมิติ มิติแรกคือองค์ความรู้เชิงลึก (งานวิจัยภาคทฤษฎี) ที่สามารถนำไปตอบปัญหาในเชิงปฏิบัติได้ เป็นแหล่งวิจัยค้นคว้าของนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก รวมทั้งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติได้ มิติที่สองคือ การประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถตอบสนองภาคการผลิตภายในประเทศและสามารถจดสิทธิบัตรเป็นของคนไทยได้
การบรรลุวัตถุประสงค์. โครงการวิจัยนี้ได้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม


1.    ได้องค์ความรู้พื้นฐานทางด้านการถ่ายเทความร้อนและมวลในวัสดุพรุนขณะมีการเปลี่ยนสถานะ และกระบวนการเชิงความร้อนภายใต้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า นำมาสู่การตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยในระดับนานาชาติที่มี    Impact  Factor รวมจำนวน 5 บทความ     และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้นี้ไปประยุกต์ออกแบบระบบเชิงอุตสาหกรรมได้
2.    ได้ระบบอบแห้งอเนกประสงค์เชิงพาณิชย์โดยใช้ไมโครเวฟร่วมระบบสุญญากาศ โดยยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว 2 รายการ คือ ระบบอบแห้งเชิงพาณิชย์โดยใช้ไมโครเวฟกำลังต่ำที่ป้อนคลื่นสองตำแหน่งร่วมกับระบบสุญญากาศ (เลขที่คำขอ 0901000780) และระบบอบแห้งเชิงพาณิชย์โดยใช้ไมโครเวฟกำลังสูงร่วมกับระบบสุญญากาศ (เลขที่คำขอ0901000779) รวมทั้งข้อมูลการวิจัย ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่มีลักษณะเฉพาะชิ้นแรกของประเทศไทยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง นับว่าเป็นการเผยแพร่เทคโนโลยีที่คิดค้นด้วยคนไทยในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ยังเคยได้นำเสนอในงาน มหกรรมเครื่องจักรกลไทย ที่ไบเทคบางนา เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2551 และเคยได้รับการจัดลำดับให้เป็นผลงานวิจัยระดับ Outstanding ของฝ่ายวิชาการของ สกว. เมื่อปีที่ผ่านมา
3.    โครงการวิจัยนี้สามารถผลิตนักศึกษาระดับปริญญาเอกได้ 1 คน และนักศึกษาปริญญาโท 1 คน  รวมจนถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม นับเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมไทยและศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก

 


การใช้ประโยชน์
เครื่องอบแห้งอเนกประสงค์โดยใช้ระบบไมโครเวฟร่วมระบบสุญญากาศเหมาะสำหรับการอบแห้งวัสดุที่มีคุณภาพสูง อาทิ ผลิตภัณฑ์ยา (Pharmaceutical) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สมุนไพร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงเป็นต้น ด้วยความเหมาะสมของการอบแห้งโดยใช้กระบวนการอบแห้งที่พัฒนาขึ้นนี้ จะเกิดประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ดังนี้ (1) อุณหภูมิอบแห้งต่ำทำให้รักษาสภาพดั้งเดิมของวัสดุไว้ และไม่มีออกซิเจนเข้าทำปฏิกิริยากับวัสดุ  (2) คงคุณค่าทางโภชนาการ กลิ่น รส ที่แปรเปลี่ยนจากดั้งเดิมน้อยมาก และผลิตภัณฑ์ที่สูญเสียในกระบวนการมีน้อยมาก  จึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงเพื่อส่งออก (3) ร่นระยะเวลาในกระบวนการอบแห้งเหลือเพียง 1 ใน 6 เท่าเมื่อเทียบกับกระบวนการอบแห้งด้วยวิธีทั่วไป ส่งผลต่อการประหยัดพลังงานอย่างมหาศาล (4) ระบบที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถนำมาใช้ทดแทนระบบ Freeze Drier ที่ประเทศไทยต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศคิดเป็นเงินนับพันล้านบาทต่อปี

โอกาสเกิดผลกระทบในวงกว้าง
คณะผู้วิจัยเป็นกลุ่มแรก ๆ ของประเทศที่นำเทคโนโลยีไมโครเวฟในกระบวนการทางความร้อนมาเผยแพร่ตลอดระยะเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันนวัตกรรมของกลุ่มผู้วิจัยเองในหลายกระบวนการ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางบวกในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมไทยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาวะวิกฤติพลังงานและสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ ผลงานวิจัยโครงการนี้เป็นโครงการที่ใช้พลังงานสะอาดและประหยัดพลังงาน (มีประสิทธิภาพเชิงพลังงานสูงกว่าระบบทั่วไปประมาณ 3 – 6 เท่า) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นการใช้วัสดุที่มีอยู่ภายในประเทศและใช้งบประมาณในการสร้างต่ำแต่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงกับผู้ใช้งาน มีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 8 เท่า การ Operate และการซ่อมบำรุง สามารถทำได้โดยบุคลากรภายในประเทศ ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มหาศาล เช่นกันในงานวิจัยระดับเชิงลึก ผู้วิจัยถือว่าเป็นกลุ่มผู้นำในเวทีวิจัยระดับนานาชาติกลุ่มหนึ่งที่ได้นำเสนอแนวทางวิจัยใหม่ฯในเทคโนโลยีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างในระดับสากล

ข้อมูลจาก:  รายงานสรุปย่อผลงานรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2554 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
:  รายงานสรุปย่อผลงานวิจัยที่ได้รับทุน ฝ่ายวิชาการ สกว.
:  เวปไซด์สภาวิจัยแห่งชาติ http://www.nrct.go.th/index.php

 


Welcome to NRC Gallery

หน่วยวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จากไมโครเวฟในงานวิศวกรรม
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)
อ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (12120)
โทร. 02 5643001-9 ต่อ 3153
e-mail : ratphadu@engr.tu.ac.th