The 23rd Conference of The Mechanical Engineering Network of Thailand
November 4-7, 2009, Chiang Mai, Thailand


ผลงานวิจัย "การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจำลองการรักษาเซลล์มะเร็งตับโดยใช้คลื่นไมโครเวฟผ่านท่อนำคลื่น"

(Computer Simulation of Liver Cancer Cells Modeling Treated by Using Microwave Coaxial Antenna)

จากหน่วยวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จากไมโครเวฟในงานวิศวกรรม (R.C.M.E.)

ได้รับรางวัลบทความดีเด่นระดับชาติ สาขา Biomechanics

 





ตามที่การประชุมเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทยครั้งที่ 23 (MENETT23) เมื่อวันที่ 4-7 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จ.เชียงใหม่ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพในการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งการประชุมทางวิชาการครั้งนี้ได้มีการคัดเลือกบทความดีเด่น 14 บทความ จากบทความทั้งหมด 307 บทความ จากสถาบันการศึกษา 38 สถาบันทั่วประเทศไทย ปรากฎว่า บทความเรื่อง "การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจำลองการรักษาเซลล์มะเร็งตับ โดยใช้คลื่นไมโครเวฟผ่านท่อนำคลื่น (Computer Simulation of Liver Cancer Cells Modeling Treated by Using Microwave Coaxial Antenna) " ได้รับรางวัลบทความดีเด่นระดับชาติ สาขา Biomechanics ผลงานวิจัยนี้ดำเนินการวิจัยโดย นางสาวพรทิพย์ แก่งอินทร์ นายธีรพจน์ เวศพันธุ์และ รศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช จากหน่วยวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จากไมโครเวฟในงานวิศวกรรม (R.C.M.E.) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


โดยในงานวิจัยนี้ได้กล่าวว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบได้อันดับต้นๆ ในคนไทย และในอีกหลายประเทศที่กำลังพัฒนา ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่าเป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 5 และคิดเป็นร้อยละ 5.6 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 4 เท่า และพบผู้ป่วยใหม่ทั่วโลกสูงถึงประมาณ 560,000 คนต่อปี การรักษาโรคมะเร็งตับในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี เช่น การผ่าตัด ( Surgical resection) การปลูกถ่ายตับ ( Liver tansplantation) การใช้เคมีบำบัดโดยการใช้ยา ( Chemotherapy) วิธีรังสีบำบัด ( Radiotherapy ) หรือการฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งโดยตรง แต่บ่อยครั้งที่การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่สัมฤทธิ์ผล หรือมีข้อจำกัดบางประการ และอาจมีผลกระทบต่อร่างกายของผู้รักษาในภายหลัง การรักษาโรคมะเร็งตับโดยการให้ความร้อน ( Thermal ablation) จึงเป็นวิธีการรักษาอีกทางเลือกหนึ่ง และเป็นเทคนิคใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจของแพทย์ทั่วโลก ซึ่งมีหลายเทคโนโลยี เช่น การใช้เลเซอร์ (Laser) และการใช้ความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟในการรักษา ( Microwave ablation) โดยจะใช้ท่อนำคลื่นไมโครเวฟ ( Microwave antenna ) ที่มีขนาดเล็ก สอดเข้าไปในเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็ง ความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟจะทำให้เนื้อเยื่อในส่วนนั้นตายได้ โดยมีข้อดีในการรักษา คือสามารถทำลายเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งที่อยู่ลึกภายในร่างกายได้ โดยไม่ทำให้เนื้อเยื่อดีที่อยู่ข้างเคียงเป็นอันตราย ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสการรอดชีวิตสูง มีผลข้างเคียงในการรักษาน้อย และใช้เวลาพักฟื้นหลังการรักษาไม่นาน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น จึงเป็นวิธีที่นิยมนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งตับ และศึกษามากในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาการศึกษาการรักษาโรคมะเร็งตับ โดยการใช้ความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟนั้นมีข้อจำกัดมากมายในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาโดยการทดลอง ซึ่งไม่สามารถทำการทดลองได้กับร่างกายมนุษย์จริง จึงจำเป็นต้องใช้เนื้อเยื่อตับของสัตว์ประเภทอื่นแทน เช่น วัว และหมู ซึ่งอาจมีคุณสมบัติบางประการที่แตกต่างจากเนื้อเยื่อตับของมนุษย์ ทำให้ไม่สามารถได้ผลการศึกษาที่มีความถูกต้อง และแม่นยำได้ การศึกษาจากการใช้แบบจำลองโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งในงานวิจัยนี้จะเป็นการใช้เงื่อนไขขอบเขตของการถ่ายเทความร้อนแบบเคลื่อนที่ (Moving boundary) คือจำลองให้เนื้อเยื่อของตับสามารถยืดหดได้ ซึ่งจะเป็นการศึกษาทั้งการถ่ายเทความร้อน โดยการใช้ สมการไบโอฮีท ร่วมกับสมการการแพร่กระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และสม การการยืดหยุ่นทางกล (E lastic constitutive equation) เพื่อศึกษา การกระจายตัวของพลังงานไมโครเวฟ (Microwave heat-source density ) อัตราการกระจายตัวของพลังงานดูดซับที่เกิดจากคลื่นไมโครเวฟ ( Microwave specific absorption rate ; SAR ) การกระจายตัวของอุณหภูมิ ( Temperature distribution) ลักษณะการยืดหดตัวของเนื้อเยื่อมะเร็งตับ (Normal strain distribution) โดยใช้ระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ (FEM) ในการหาผลเฉลย ซึ่งจะทำให้ได้ผลการศึกษาที่มีความใกล้เคียงกับลักษณะทางกายภาพจริง มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น สามารถนำผลจากการศึกษาไปใช้เป็นพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งตับในเชิงปฏิบัติได้ และเป็นรูปแบบการจำลองแบบใหม่ในระดับนานาชาติ

ปัจจุบันผลงานวิจัยนี้ได้ส่งตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ IEEE Transaction on Biomedical Engineering (IMPACT FACTOR = 2.7) ในหัวข้อ “Analysis of Specific Absorption Rate and Heat Transfer in Deformed Liver Cancer Cells Modeling Treated by Using Microwave Coaxial Antenna”

สำหรับงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากเงินกองทุนวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2552 และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


Welcome to MENETT23 Gallery

 back

 

หน่วยวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จากไมโครเวฟในงานวิศวกรรม
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)
อ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (12120)
โทร. 02 5643001-9 ต่อ 3153
e-mail : ratphadu@engr.tu.ac.th